“อนาคตของห้างสรรพสินค้า”

เจมส์ แชมเบอร์ส รายงานจาก กรุงเทพมหานคร

กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าของประเทศไทย ปัจจุบันได้รุกเข้าเป็นผู้ลงทุนที่มีความโดดเด่นในยุโรป ด้วยการพลิกฟื้นห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ตั้งแต่ อิตาลี จนถึง เบอร์ลิน โดย ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจค้าปลีก เมื่อเอเชียกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง

กลุ่มเซ็นทรัล ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เปิดห้างสรรพสินค้าสาขาแรกในกรุงเทพมหานคร เมื่อ 65 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้ากว่า 60 แห่ง รวมถึงศูนย์การค้า ออฟฟิศ โครงการที่พักอาศัย และโรงแรมทั่วประเทศไทย และยังเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ในยุโรปอีกหลายแห่ง พร้อมนำความยิ่งใหญ่กลับสู่ห้างเหล่านั้นอีกครั้ง

ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และทายาทรุ่นที่ 3 ของผู้ก่อตั้งกลุ่มเซ็นทรัล นำพาบริษัทเข้าสู่ยุโรปเมื่อปี 2011 ด้วยการเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต (Rinascente) ในอิตาลี ต่อด้วยห้างสรรพสินค้าอิลลุม (Illum) ในเดนมาร์ก และเป็นผู้ถือหุ้นหลักของกลุ่มห้างสรรพสินค้าคาเดเว (KaDeWe) ในเยอรมนี และห้างสรรพสินค้าโกลบัส (Globus) ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าสุดหรูที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ที่ยังต้องการการลงทุนอีกจำนวนมาก

ในขณะที่เอเชียเริ่มเปิดประเทศ คุณทศก็วางแผนการเดินทางในยุโรปเอาไว้แล้ว เริ่มต้นจากการเยี่ยมชมห้างสรรพสินค้าคาเดเวโฉมใหม่ ในกรุงเบอร์ลิน ที่ได้ OMA บริษัทสถาปนิกสัญชาติเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ปรับโฉมใหม่ทั้งหมด ซึ่งบางทีการเดินทางครั้งนี้อาจกลายเป็นการ ช้อปปิ้ง (ซื้อกิจการ) อีกครั้งก็ได้ หลังจากพาดหัวข่าวการเข้าซื้อกิจการของกลุ่มเซ็นทรัลเงียบหายไปนานกว่า 18 เดือน ขณะที่บริษัทยังมีเงินทุนอีกมาก ด้วยหลังจากธุรกิจค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกไม่นาน น่าจะทำให้บริษัทยังมีเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่รอการจัดสรร ดีลถัดไปจะเป็นห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส (Selfridges) ในลอนดอนหรือไม่ หลังจากเจ้าของได้ประกาศขายอยู่ที่ราว 4 พันล้านปอนด์ (4.7 พันล้านยูโร) ? คุณทศไม่ได้เปิดเผย แต่ถ้าเกิดเข้าร่วมประมูลก็คงจะไม่สร้างความประหลาดใจให้กับคนในแวดวงค้าปลีก

ทำไมห้างสรรพสินค้ายังคงได้ไปต่อ?

ห้างสรรพสินค้ายังคงถือเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของผู้คนนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่การมีห้าง 10 ห้างในเมืองเดียวอาจจะมากเกินไป สำหรับเมือง ๆ หนึ่ง ถ้ามีแค่ 1 หรือ 2 ห้าง ก็จะประสบความสำเร็จได้ดี

อะไรทำให้คุณตัดสินใจเข้าไปลงทุนห้างในยุโรป ?

การทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ค่อยมีใครอยากจะทำ นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจแค่การซื้อมาขายไป ได้กำไรแล้วก็จบไป แต่พวกเรายังมีความคิดแบบดั้งเดิม คือเราอยากเข้าซื้อธุรกิจเพื่อปรับโฉมห้างสรรพสินค้าให้เป็นสัญญลักษณ์ของเมือง เรามองการลงทุนระยะยาว และเราแทบจะไม่เคยขายธุรกิจอะไรออกไปเลย ซึ่งแต่ละโครงการในแต่ละเมืองต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะสำเร็จ เช่นที่โรม เราใช้เวลาเกือบ 10 ปี ในการพัฒนา และหลังจากนั้นก็ต้องบริหารจัดการให้ดีทุกวัน ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นว่าจะมีใครหรือบริษัทใดที่อยากจะทำธุรกิจแบบนี้

ถ้าจะให้คะแนนสำหรับระยะเวลา 10 ปีในยุโรป คุณจะให้เท่าไร ?

ธุรกิจในอิตาลีไปได้ดีมากๆ เราพอใจเป็นอย่างยิ่ง และที่เยอรมนี ถือเป็นโปรเจ็กใหญ่ลำดับที่สอง ซึ่งเราอยู่ที่นั่นมามากกว่า 5 ปีแล้ว แต่การปรับปรุงก็ยังคงดำเนินต่อไป คาดว่าห้างสรรพสินค้าคาเดเว ในเบอร์ลินน่าจะเสร็จราวสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า ห้างนี้เป็นหนึ่งในห้างที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป สามารถเทียบได้กับห้างแฮร์รอด (Harrods) จึงนับเป็นก้าวสำคัญ และแบรนด์พันธมิตรของเราก็พึงพอใจมาก แต่งานตกแต่งใหม่ในเยอรมนีก็น่าจะต้องใช้เวลาอีก 2 ปีถึงจะเสร็จสมบูรณ์ นอกจากนี้เรายังมีโปรเจ็กใหม่ในสวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย โดยรวมแล้วก็ถือว่าทุกอย่างยังไปได้ดี

ทำไมถึงสนใจยุโรป ?

ธุรกิจค้าปลีกไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การบริหารจัดการก็มีความท้าทายในทุกๆ วัน และต้องสร้างความใกล้ชิดกับสังคมท้องถิ่นนั้นด้วย จึงมีบริษัทค้าปลีกจำนวนไม่มากนักที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในหลายประเทศ คงเป็นไปได้ยากที่จะบริหารได้ดีหากกระจายไปทุกที่ทั่วโลก เราจึงเลือกอิตาลีก่อน แล้วประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ก็ค่อย ๆ ตามมา เรายังคงโฟกัสในยุโรป จะไม่ไปอเมริกาหรือญี่ปุ่นเพื่อทำแบบเดียวกันนี้แน่นอน ดังนั้น ไทย เวียดนาม และยุโรป ก็เพียงพอแล้วในตอนนี้

ลักชัวรี่แบรนด์ในยุโรปจะยังต้องการอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรือไม่ ?

ตอนเราเริ่มเข้าไปในยุโรป แบรนด์ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจในความสามารถของเรา แต่เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรามีความชำนาญในเรื่องนี้ แบรนด์ต้องการความเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถสร้างพื้นที่ บรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่พวกเขาต้องการได้ รวมถึงการรักษามาตรฐานและการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าจำนวนไม่มากที่ทำได้ ทั้งนี้เราสามารถสร้างความเชื่อมั่นนี้ให้กับแบรนด์ได้ ก็เพราะเกิดจากการที่เราได้ร่วมมือกันทำงานกับพวกเขาจริง ๆ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อความสัมพันธ์เหล่านี้บ้างหรือไม่ ?

ห้างของเราหลายแห่ง (ในยุโรป) ต้องปิดไปเกือบหนึ่งปี แต่การปรับปรุงตกแต่งภายในไม่เคยหยุด ลักชัวรี่แบรนด์ของเรายังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงร้านในห้างของเรา เป็นที่น่ายินดีมากที่ขณะนี้ห้างของเราทุกแห่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และเปิดมาพร้อมกับรูปแบบใหม่ที่มีชีวิตชีวา พร้อมด้วยแบรนด์ต่าง ๆ ที่ยังคงอยู่กับเรา ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาเราไม่เคยหยุดนิ่ง และนั่นคือความแตกต่างที่ลูกค้าจะได้เห็น อย่างที่เบอร์ลินเราปรับปรุงพื้นที่ทั้งชั้นใหม่ ซึ่งเป็นการลงทุนมูลค่าหลายล้านจากเราและคู่ค้าลักชัวรี่แบรนด์ต่าง ๆ

แฟชั่นยังคงมีความสำคัญหรือไม่ หรืออาหารและเครื่องดื่มจะเป็นอนาคตของห้างสรรพสินค้า ?

แฟชั่นยังคงมีความสำคัญแน่นอน เราเชื่อในอนาคตของธุรกิจค้าปลีกสินค้าลักชัวรี่แบรนด์ เพราะนั่นคือธรรมชาติของมนุษย์ ผู้คนมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม ในขณะเดียวกันลักชัวรี่แบรนด์ก็ปรับตัวให้สินค้าของพวกเขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และนั่นคือจุดที่เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยแบรนด์ ผู้บริโภคสามารถเลือกที่จะไปที่แบรนด์ช้อป หรือจะมาที่ห้างของเราที่มีทุกแบรนด์อยู่รวมกัน ทำให้เข้าถึงง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องมีพนักงานรักษาความปลอดภัยที่หน้าประตูร้าน ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาดูสินค้า แล้วต่อด้วยการซื้อกาแฟสักแก้วก็ได้

แล้ว E-Commerce เข้ามาเสริมอย่างไร ?

เรามีหน้าร้าน (Physical Platform) ที่ดีเยี่ยม และเราก็กำลังสร้างดิจิทัล แพลตฟอร์ม ซึ่งการเชื่อมต่อทั้งสองแพลตฟอร์มเข้าด้วยกันมีความหมายอย่างมาก ซึ่งเราก็ได้พิสูจน์ความสำเร็จนั้นแล้วในประเทศไทย เรามีสมาชิกในโปรแกรมลอยัลตี้ราว 21 ล้านคน และมีพนักงานมากกว่า 80,000 คน ที่ทำงานที่หน้าร้านของเรา เราจึงได้ออกแบบเครื่องมือที่จะช่วยให้พนักงานและลูกค้าของเราสามารถสื่อสารกันได้สะดวกมากขึ้น ลูกค้าชอบที่จะติดต่อสื่อสารกับพนักงาน และในปัจจุบัน ลูกค้าระดับท็อปของเราก็มีผู้ช่วยช้อปส่วนตัวที่สาขาใกล้บ้าน ผู้ซึ่งเป็นพนักงานหรือเป็นผู้จัดการของห้าง ที่มีความคุ้นเคยกันอยู่แล้ว

แผนการต่อไปคืออะไร ? ห้างสรรพสินค้าดาเดเว เอเชีย ?

ไม่ครับ เราไม่อยากจะนำแบรนด์ของห้างสรรพสินค้าข้ามประเทศ เราต้องการแบรนด์ที่จะเชื่อมโยงกับผู้คน ทั้งเรื่อง อาหาร ศิลปะ และวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ เพราะคงไม่มีใครอยากจะเห็นแต่สิ่งเดิม ๆ แบบเดียวกันในทุกที่ทั่วโลก ผู้คนอยากเห็นความแตกต่าง

คุณพร้อมไหมกับการเปิดประเทศของไทย ?

นี่คือสิ่งที่พวกเราทุกคนรอคอย ประเทศไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ถ้าเทียบตามสัดส่วนของเศรษฐกิจ ไทยอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุดในโลก การกลับมาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

แล้วกลุ่มเซ็นทรัลต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวมากแค่ไหน ?

กำลังซื้อภายในประเทศตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของที่เคยเป็นมา ยอดขายของเราก็ลดลงไปประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์จากก่อนเกิดการแพร่ระบาด ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์มาจากนักท่องเที่ยว และอีก 10 เปอร์เซ็นต์มาจากผู้บริโภคภายในประเทศที่รายได้ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยว ยอดขายส่วนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับห้างของเราในยุโรป ตอนนี้กำลังซื้อภายในประเทศกลับขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน หรือมากกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดแล้ว

กลุ่มเซ็นทรัลจะสามารถกลับไปสู่จุดก่อนเกิดการแพร่ระบาดได้หรือไม่ ในปี 2022 ?

พูดตามตรงว่าคงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนนักท่องเที่ยวของเรา แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยอาจจะไม่สามารถมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของช่วงเวลาปกติในปีหน้า แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถกลับไปสู่จุดนั้นได้ใน 2-3 ปี

คุณคิดว่าเอเชียจะเปิดอีกครั้งในปี 2022 หรือไม่ ?

หลายอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของจีนและญี่ปุ่น ว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ชาวเอเชียเป็นคนระมัดระวังและอนุรักษ์นิยมมากกว่าชาวตะวันตก ดังนั้นการกลับมาอาจจะช้ากว่า

คุณมีห้างสรรพสินค้าที่ชอบเป็นพิเศษไหม ?

ในกลุ่มห้างสรรพสินค้าทั้งหมดของเรา ผมชอบรีนาเชนเต ที่มิลาน และที่โรม สองแห่งนี้มากที่สุด แต่ห้างสรรพสินค้าเลอ บอง มาร์เช่ (Le Bon Marche) ในปารีสก็สวยงามมาก ๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้าเซลฟริดเจส (Selfridges) ก็ยอดเยี่ยมทั้งเรื่องความมีชีวิตชีวาและความน่าตื่นเต้นครับ


แกลลอรี่