ด้วยความห่วงใยต่อวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ อาทิ ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาการจัดการขยะ และสภาพอากาศที่ผันแปร กลุ่มเซ็นทรัล โดยโครงการเพื่อสังคม “เซ็นทรัล ทำ” ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ จึงมีเจตนารมย์ที่จะดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างคุณค่าร่วมกันกับสังคม ชุมชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืนในมิติสิ่งแวดล้อม โดยการนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน

พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล ได้ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมากมายภายใต้แคมเปญ Central Group Love the Earth ด้วยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนในการร่วมกันลงมือ “ทำ” แก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยมุ่งเน้น

  • การลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use plastic reduction)
  • การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (Recycling and up cycling)
  • การจัดการคัดแยกขยะ (Waste segregation)
  • ลดการสร้างขยะอาหาร (Food waste reduction)
  • การฟื้นคืนพื้นที่ป่า (Forest restoration)
  • การลดสภาวะโลกร้อน ด้วยการใช้พลังงานทดแทน (Climate Change & Energy Management)

ทั้งนี้ในปี 2563 ที่ผ่านมา สามารถลดขยะประเภทถุงพลาสติกได้ถึง 236 ล้านใบ และบริจาคอาหารส่วนที่เกินจากการจำหน่าย(Food Surplus) มอบให้กับกลุ่มเปราะบาง 203,778 กก. คิดรวมเป็นจำนวน 855,869 มื้อ และตั้งแต่ปี 2561-2563 สามารถฟื้นฟูป่าต้นน้ำไปแล้ว 1,033 ไร่

จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ในเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา FeedUp@UN โดยองค์การสหประชาชาติ ร่วมกับ สมาคมการตลาดเกษตรและอาหาร แห่งภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค (AFMA - อัฟมา) ได้มอบ รางวัล ‘Climate Action Awards’ จำนวน 2 รางวัล ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะเป็นองค์กรขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น ;

  1. ด้านการจัดการขยะอาหาร (Food Waste/ Food Surplus) โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์ ในปี 2563 ได้ทั้งสิ้น 862,109 KgCo2e (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) . จากการคัดแยกขยะอินทรีย์ และบริจาคอาหารส่วนเกินในธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล เช่น แฟมิลี่มาร์ท, ท็อปส์, เซ็นทารา, ร้านอาหารในเครือ ซีอาร์จี (มิสเตอร์ โดนัท) , ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เป็นต้น
  2. ด้านการปลูกป่าฟื้นฟูป่า (Forest Restoration) โดยร่วมมือกับ โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน “FLR349” ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมป่าต้นน้ำ ให้เป็นแหล่งอาหารปลอดภัย และอาชีพที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร รวมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน โดยสามารถกักเก็บคาร์บอน (carbon sequestration) ได้รวม 39,353,527 KgCo2e (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) จากพื้นที่ฟื้นป่า 1,033 ไร่

เซ็นทรัล ทำ โดยกลุ่มเซ็นทรัล มุ่งสร้างแพลตฟอร์มการดำเนินงานในลักษณะเครือข่ายที่เชื่อมโยงและสร้างประโยชน์ตั้งแต่ระดับต้นน้ำคือเกษตรกรสู่ปลายน้ำได้แก่ผู้บริโภค จนเป็นโมเดลต้นแบบด้านซีเอสวี ที่นำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหากับพื้นที่ชุมชนอื่นๆทั่วประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มเซ็นทรัลด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน